Friday, December 8, 2006

ก04-สมัยเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง



ภาพเขียน เจ้ากาวิละ เจ้าหลวงลำปางองค์แรก(พ.ศ.2317-2325) ก่อนที่จะได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น พระยาวชิรปราการ ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2325-2356 โดยมีเมืองนครลำปาง เมืองลำพูนเป็นเครือญาติในการขยายดินแดนล้านนา ในยุคที่เรียกว่า "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" [ที่มา : หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่]



นักแสดงแสง และเสียง เรื่อง เจ้าเจ็ดตนผู้ฟื้นแผ่นน้ำหนังดินล้านนา เมื่อ 5-6 กุมภาพันธ์ 2531
[ที่มา : สูจิบัตร งานหลวงเวียงละกอน ครั้งที่ 4 การแสดงประกอบแสงและเสียง เจ้าเจ็ดตน ผู้ฟื้นแผ่นน้ำหนังดินล้านนา, ลำปาง : ภัณฑ์เพ็ญ, 2531]





หอคำนครลำปาง เดิมตั้งอยู่ ณ บริเวณอาคารศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว แต่ พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ ได้นำภาพถ่ายนี้ไปก่อสร้างขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์(ครองเมืองลำปางราว พ.ศ.2337-2368)
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]

สมัยเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง
พ.ศ.2325-2417[1]
ร่วมสมัยกับกรุงรัตนโกสินทร์


สร้างบ้านเมืองด้วยการกวาดต้อนไพร่พล
กำลังคนไพร่พล เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงอยู่ของเมืองๆหนึ่ง ครั้นล้านนาตกอยู่ในอำนาจของพม่า โครงสร้างของไพร่พลดังกล่าวอ่อนแอลง จนไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในสังกัดได้ดังเดิม เมื่อ "เจ้ากาวิละ" อาศัยความร่วมมือจากทางกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ จนกลับมาตั้งศูนย์อำนาจการเมืองทางเหนือได้สำเร็จ จึงได้ใช้ "นโยบายเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง"[2] จากหัวเมืองต่างๆทางเหนือ เช่น เมืองเชียงตุง เมืองสาด เมืองยอง ฯลฯ

การตั้งถิ่นฐาน
อ.สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย อ้างถึงตำนานเจ้าเจ็ดตน ฉบับสุวรรณหอคำมงคล ใน ประวัตินครลำปาง[3] ว่า
"...สมัยเจ้าคำโสม ผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 2 ...ได้สร้างวิหารหลวงกลางเวียง ก่อองค์เจดีย์ และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สร้างพระอุโบสถ สร้างพระวิหารวัดหมื่นกาด วิหารวัดน้ำล้อม วิหารวัดป่าดั๊วะในฝั่งเมืองใหม่...

...ต่อมาในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์เป็นพระยานคร เมื่อ พ.ศ.2337 ได้สร้างกำแพงและขุดคูเมือง พร้อมทั้งสร้างหอคำขึ้นราว พ.ศ.2351

...มีประตูเมืองชื่อต่างๆ คือ ประตูหัวเวียง ประตูศรีเกิด ประตูชัย ประตูศรีชุม ประตูสวนดอก และประตูเชียงราย..."

ทางฝั่งเหนือ ของแม่น้ำวังนั้นประกอบด้วยชุมชนจากเชียงแสนดังที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ บ้านหัวข่วง บ้านสุชาดาราม บ้านช่างแต้ม บ้านปงสนุก นอกนั้นยังมีบ้านพะเยา ที่อยู่บริเวณเดียวกับบ้านปงสนุก ภายหลังได้ย้ายกลับไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่เมืองพะเยาอีกครั้ง[4]



"วิหารหลวงและหอไตรที่เมืองละคร(ลำปาง)" เป็นภาพสเก็ตช์ ของ คาร์ล บ็อค ในภาพปรากฏวิหารหลวง หอไตร และเสาหงส์ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นวิหารหลวงวัดใด
[ที่มา : บ็อค, คาร์ล. ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง, กรุงเทพฯ : มติชน, 2543, หน้า 160]



วัดหลวงไชยสัณฐาน (ปัจจุบันคือ วัดบุญวาทย์วิหาร) วัดทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง ได้รับการสถาปนาให้เป็น "วัดหลวงกลางเวียง" ศูนย์กลางของเมืองใหม่สมัยนี้ ขณะที่สร้างคุ้มหลวง หอคำในบริเวณใกล้เคียงกัน


หออะม็อก อยู่บริเวณประตูศรีเกิด ต.หัวเวียง อ.เมือง ลำปาง คำว่า "อะม็อก" เป็นภาษาพม่า แปลว่าปืน ถือเป็นป้อมปืนแห่งเดียว ที่สภาพสมบูรณ์ ที่เหลืออยู่ในลำปาง และคาดว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์

การทำมาหากิน ค้าขาย
การค้าขายระยะไกล จะมีพ่อค้าเร่ พ่อค้าวัวต่างที่เชื่อมโยงระหว่าง ยูนนาน พม่า รัฐฉาน หลวงพระบาง เชียงตุง ซึ่งเป็นพ่อค้าไทใหญ่ พ่อค้าฮ่อ ผ่านมา โดยจะเดินทางมาพักบริเวณศาลาวังทาน (บริเวณวัดป่ารวก และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดลำปางในปัจจุบัน) บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง[5]

ชื่อบ้านนามเมือง "เมืองนครลำปาง"
มีการกล่าวถึงขื่อ นครลำปาง ในหลายแห่ง ได้แก่ ตำนานสิบห้าราชวงศ์[6] ที่กล่าวถึง พระยาละครลำปาง(ในพ.ศ.2332) พงศาวดารนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ไว้ว่า พ.ศ.2357 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ได้มีการยกเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย เป็นเมืองประเทศราช

ทั้งปรากฏชื่อ "ศรีนครไชย" จากตำนานที่เขียนขึ้นในยุคนี้ เพื่อเป็นการถวานเกียรติสดุดีแด่สกุลเจ้าเจ็ดตน[7]

เชิงอรรถ
[1] พ.ศ.2325 นับแต่ปีที่ เจ้ากาวิละพึ่งพิงอำนาจจากทางกรุงเทพฯ หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาครองเมืองเชียงใหม่/พ.ศ.2417 สิ้นสุดลงที่การทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ ครั้งแรก
[2] สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544, หน้า 264-268
[3] ศักดิ์ รัตนชัย. “ประวัตินครลำปาง” ใน อนุสรณ์การแข่งขันกีฬาเขต 5 ครั้งที่ 7 ณ จังหวัดลำปาง 24 มิถุนายน 2516, หน้า 67-68
[4] สุกัญญา เอี่ยมชัย. การศึกษาเพื่อเสนอแนวทางการอนุรักษ์ชุมชนเมืองลำปาง วิทยานิพนธ์ ปริญญาการผังเมืองมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 134-135 เรื่อง เก็บผักใส่ซ้าฯในลำปาง อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศักดิ์ รัตนชัย. “เมืองนคร-เมืองลำปาง” ใน ของดีนครลำปาง, 2512, หน้า 16
[5] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์. พ่อค้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ : ลำปาง 2459-2512 ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541, หน้า 31
[6] สมหมาย เปรมจิตต์, ปริวรรต. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับชำระ, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ :มิ่งเมือง, 2540, หน้า 129-130
[7] ศักดิ์ รัตนชัย. “เมืองนคร-เมืองลำปาง” ใน ของดีนครลำปาง, หน้า 13

No comments: