Friday, December 8, 2006

ก02-สมัยหริภุญไชย



ผังเมืองรูปหอยสังข์ ที่อ.ศักดิ์ รัตนชัย เป็นผู้สำรวจค้นพบ และเผยแพร่เป็นคนแรกๆ
[ที่มา : ศักดิ์ รัตนชัย, "ประวัตินครลำปาง" ใน แนะนำนครลำปาง ฉบับอนุสรณ์การแข่งขันกีฬาเขต 5 ครั้งที่ 7 ณ จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 24 ถึง 30 มิถุนายน พงศ.2516, 2516, หน้า 67]




รูปปั้นสุพรหมฤาษี บนซุ้มประตูโขงวัดบุญวาทย์วิหาร

สมัยหริภุญไชย
ราวพุทธศตวรรษที่ 13

กำเนิดเมืองบนลุ่มน้ำวัง
การกำเนิดรัฐบริเวณลุ่มน้ำปิงในนามหริภุญไชยนั้น จำเป็นต้องสร้างเครือข่าย อันได้แก่ เวียงเถาะ เวียงมะโน ฯลฯ เมืองที่ถือกำเนิดในลุ่มน้ำวัง ก็ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายนั้นเช่นกัน แต่มิใช่เกิดขึ้น โดยกลุ่มคนจากหริภุญไชยเท่านั้น ในตำนาน[1]ที่มีการเล่าถึง "พรานเขลางค์" และ "สุพรหมฤาษี"ที่อาศัยอยู่บริเวณ "ดอยเขางาม" นับเป็นตัวแทนกลุ่มชนดั้งเดิมในระยะเวลานั้น ซึ่งมีทั้งชาวลัวะและกะเหรี่ยง[2]

ที่น่าสนใจก็คือ ในโบราณสถานหลายแห่งมีการกล่าวอ้างถึง "พระนางจามเทวี" เช่น วิหารจามเทวี วัดปงยางคง, ตำหนักเย็น วัดพระธาตุจอมปิง ฯลฯ ซึ่งเป็นสำนึกการเชื่อมโยง ความยาวนาน แต่ก็ไม่ได้การยืนยันทางวิชาการอย่างหนักแน่นพอ

การตั้งถิ่นฐาน
ในที่นี้จะกล่าวถึง 3 พื้นที่ อันได้แก่ เมืองที่มีศูนย์กลาง ณ วัดพระแก้วชมพู(ปัจจุบันคือ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม) ที่ครอบคลุมบริเวณเมือง ลักษณะคล้าย"หอยสังข์" กล่าวกันในตำนานว่า เป็นเมืองที่สุพรหมฤาษี และพรานเขลางค์ สร้างให้เจ้าอนันตยศ โอรสของพระนางจามเทวี ปกครองดูแลต่อไป[3] เมืองตั้งอยู่บนที่ดอน ริมแม่น้ำวัง มีองค์ประกอบของเมือง ค่อนข้างสมบูรณ์ เมื่อเทียบกับบริเวณอื่น

บริเวณวัดกู่คำ วัดกู่ขาว วัดปันเจิง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่แรกไปไม่ไกล มีทางเดินเชื่อมจากประตูตาล ยังปรากฏร่องรอยมาจนปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวมีการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีคือ พระพิมพ์ดินเผา และเครื่องปั้นดินเผาทั้งนี้ยังเชื่อมโยงกับแหล่งผลิต คือ "แหล่งทุ่งเตาไห" ที่บ้านทราย ต.ต้นธงชัย อ.เมือง บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของวัดพระเจดีย์ซาวหลังไปประมาณ 2 กิโลเมตร[4]

บริเวณอำเภอเกาะคา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของพื้นที่วัดพระแก้วไปกว่า 10 กิโลเมตร ล่องไปตามแม่น้ำวัง ปรากฏหลักฐานคือ เครื่องปั้นดินเผา[5] (ก็คือ บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงนั่นเอง)



พระพิมพ์ดินเผา ศิลปะหริภุญไชย ขุดพบที่วัดปันเจิงร้าง
[ที่มา : สุรพล ดำริห์กุล, ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 116]


เครื่องเคลือบดินเผาสีน้ำตาล แหล่งทุ่งเตาไห ภาชนะบรรจุอัฐิ ขุดพบบริเวณวัดปันเจิงร้าง
[ที่มา : สุรพล ดำริห์กุล, ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 181]

ชื่อบ้านนามเมือง "เขลางค์นคร" "เมืองลำปาง" "อาลัมพางค์นคร"
ศาสตราจารย์ แสง มณวิทูร[6] ให้คำอธิบาย "เขลางค์นคร" ว่ามาจากภาษามอญ ว่า ฮฺลาง หรือ ขฺลาง แปลว่า ขัน หรือโอ และตีความว่า พรานเขลางค์ ก็คือ พรานที่อาศัยอยู่ที่ ดอยเขลางค์ ก็คือ ดอยโอคว่ำนั่นเอง

ศาสตราจารย์ สุรพล ดำริห์กุล ให้คำอธิบายว่า เมืองลำปางก็คือ บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงนั่นเอง ชื่อของ พระธาตุลำปางหลวง ปรากฏในตำนานเรียก "พระมหาธาตุเจ้าลำปาง" หรือ "พระธาตุหลวงลำปาง"[7] เมืองลำปางจึงน่าจะเป็น "เมืองลำพาง" หรือ "อาลัมพางนคร" ที่พระเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของ พระนางจามเทวี พระราชมารดา[8]




หลักฐานจากการขุดค้นหลักฐานโบราณคดี ที่พบบริเวณ วัดพระธาตุลำปางหลวง อันได้แก่ เศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาต่าง
[ที่มา : ภาสกร โทณะวณิก. การศึกษาเมืองโบราณเวียงพระธาตุลำปางหลวง วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529, หน้า 162]

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกข้อสันนิษฐานจาก อ.สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย ว่า เวียงอาลัมพาง น่าจะอยู่บริเวณ กลุ่มวัดกู่คำ วัดกู่ขาว[9]

เชิงอรรถ
[1] รัตนปัญญาเถระ, พระ. ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร, แปล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล 17 มกราคม 2515, หน้า...

[2] โพธิรังสี,พระ. คำแปลจามเทวีวงศ์พงศาวดารเมืองหริปุญไชย. พิมพ์ครั้งที่ 3. ในงานฌาปนกิจศพ นายชัช แดงดีเลิศ. พระนคร : โรงพิมพ์พิฆเนศ, 2515, หน้า 53
[3] อ้างแล้ว, หน้า...
[4] สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 180-182
[5] ภาสกร โทณะวณิก. การศึกษาเมืองโบราณเวียงพระธาตุลำปางหลวง วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529
[6] ดู เชิงอรรถ รัตนปัญญาเถระ, อ้างแล้ว หน้า...
[7] สุรพล ดำริห์กุล, อ้างแล้ว, หน้า 117
[8] อ้างแล้ว, หน้า 120-121
[9] อ้างแล้ว, หน้า 122


No comments: