Friday, December 8, 2006

ก06-สมัยการกำเนิดเส้นทางรถไฟเหนือ



ขบวนรถไฟสายเหนือมาถึงลำปางครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2459
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]



อาคารสถานีรถไฟนครลำปาง มุมมองจากถนนสุเรนทร์
[ที่มา : ร้านลำปางโฟโต้]

สมัยการกำเนิดเส้นทางรถไฟเหนือ
พ.ศ.2459-2500[1]
ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 6-9 แห่งสยามประเทศ

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเงื่อนไขของการคมนาคม
เช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตก เมื่อเส้นทางรถไฟตัดผ่านเมืองใด เมืองนั้นก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็ว ในกรณีลำปาง จากเส้นทางน้ำสู่การค้าทางบกอย่างรถไฟที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย คุ้มค่า

ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการดึงคนเข้าเมือง โดยเฉพาะชาวจีน ที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งในแง่ของความรู้ การจัดการตลอดไปจนเครื่องจักรต่างๆ ล้วนเติบโตในช่วงนี้เอง



สะพานข้ามแม่น้ำวัง ใกล้สถานีรถไฟนครลำปาง หรือที่เรียกกันว่า "สะพานดำ"
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]



สะพานรัษฎาภิเศก โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อพ.ศ.2460
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]

การตั้งถิ่นฐาน

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชาวจีน ซึ่งตั้งตัวอยู่บริเวณถนนประสานไมตรี ใกล้ย่านสถานีรถไฟ ย่านการค้าซึ่งเป็นส่วนขยายของเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลับขยับขยายไปบริเวณย่านตลาดในเมือง ได้แก่ ตลาดบริบูรณ์ปราการ ตลาดราชวงศ์ ซึ่งปรากฏการตั้งถิ่นฐานบน ถนนทิพย์ช้าง ถนนบุญวาทย์ ถนนรอบเวียง



บรรยากาศการค้าบริเวณย่านรถไฟ-สบตุ๋ยที่คึกคัก
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]
ชื่อบ้านนามเมือง "จังหวัดลำปาง"
ในเวลาใกล้เคียงกัน กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเมือง
โดยให้ใช้ชื่อ จังหวัดลำปาง แทนคำว่า เมืองนครลำปาง เมื่อพ.ศ.2459[2] ในสมัยรัชกาลที่ 6

สงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ตาม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ราวพ.ศ.2485-2488) ญี่ปุ่นเข้ามาเพื่อเคลื่อนพลผ่านประเทศไทย และได้ตั้งกองบัญชาการที่ลำปาง เข้าทำการยึดอาคารสถานที่ในกิจการของชาวตะวันตก ทั้งชาวอังกฤษ อเมริกัน และชนชาติอื่นๆต่างก็ทำการลี้ภัยออกไป ขณะที่ประเทศไทยสมัยนั้น เป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีเมือง ด้วยการทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่างๆ

หลายครอบครัวในตัวเมือง ได้ทำการย้ายไปอยู่นอกเมืองชั่วคราวเพื่อหลบภัยสงคราม บางร้านในเมืองก็พรางอาคารด้วยยอดมะพร้าว หรือเอาสีดำมาทาตัวตึก ทหารญี่ปุ่นได้ยึดอาคารสำคัญในเมืองโดยเฉพาะอาคารร้านค้าบริเวณกาดกองต้า ตลอดไปจนถึงการยึดเอาข่วงโปโลบริเวณสวนสาธารณะเขลางค์นครลำปาง ในปัจจุบัน และบริเวณโรงแรมทิพย์ช้าง ตั้งเป็นตึกบัญชาการกองพล 1 ญี่ปุ่น ขณะที่อาคารสถานที่ของกลุ่มชนคู่สงครามอย่าง อังกฤษ และอเมริกัน เช่น โรงพยาบาลแวนแซนวูร์ด โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี ต่างก็โดนยึดเป็นที่ตั้งกำลังพลทหารญี่ปุ่น[3] แม้แต่วัดน้ำล้อม ก็มีการเล่าว่า มีทหารรถถังของญี่ปุ่นมาขอพักที่วัด[4]

ย่านรถไฟที่คึกคักเต็มไปด้วยผู้คน จะสังเกตเห็นรถไฟ รถม้า เหล่าสินค้าที่รอบรรทุกไปกับรถไฟ
[ที่มา : เทศบาลนครลำปาง]

การทำมาหากิน ค้าขาย
ย่านสถานีรถไฟ กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และแหล่งการค้าสำคัญซึ่งมีกิจการที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ โรงสี โรงเลื่อย โกดังเก็บผลผลิตทางการเกษตร ทั้งยังเป็นเส้นทางผ่านไปยัง พะเยา เชียงราย[5] ควบคู่ไปด้วยกันนั้น แหล่งบันเทิง ย่านกินเที่ยว ก็ตามมา ทั้งโรงฝิ่นบนถนนประสานไมตรี และข้างสถานีตำรวจสบตุ๋ยในปัจจุบัน หรือย่านเที่ยวบนถนนบุญวาทย์ ที่มีทั้งซ่อง โรงฝิ่น โรงภาพยนตร์ โรงแรม ร้านอาหาร[6]

เชิงอรรถ
[1] ห้วงเวลานับจากที่รถไฟสายเหนือมาถึงลำปาง พ.ศ.2549 สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดให้กับลำปางเป็นอย่างมาก ในที่นี้นำเสนอมาถึงเพียง พ.ศ.2500 การพิจารณาเลือกห้วงเวลาดังกล่าว มาจากข้อกำหนดที่เน้นคุณค่าความเก่าแก่ทางมรดกทางวัฒนธรรม เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์ ทั้งระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะลำปางในยุคนั้นเป็นศูนย์กลางการค้าทั้งถูกและผิดกฎหมาย ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวไว้ว่า ในลำปางมีพ่อเลี้ยงอยู่ 2 ประเภท คือ พ่อเลี้ยงค้าไม้ กับ พ่อเลี้ยงค้าฝิ่น
[2] แม้จะอ้างถึงใน สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 110 แต่ยังไม่สามารถหาเอกสารชั้นต้นมาอธิบายได้
[3] ดูบรรยากาศช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ใน ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์. พ่อค้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ : ลำปาง 2459-2512 ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541, หน้า 92
[4] อ่านเพิ่มเติม สงครามโลกครั้งที่ 2 จากคำบอกเล่า ได้ใน พระครูปลัดสว่าง สุปภาโส. 80 ปี พระราชคุณาภรณ์ หลวงพ่อเล่าให้ฟัง, ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์, 2544, หน้า 12-14
[5] ดู ศูนย์กลางลำปางกับการส่งสินค้าออกหัวเมืองต่างๆ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องใน ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์, อ้างแล้ว, หน้า 42-57
[6] อ้างแล้ว, หน้า 93

ก05-สมัยปฏิรูปหัวเมืองทางเหนือ



ศาลากลาง สร้างขึ้นใหม่ขึ้นแทนหอคำ เมื่อพ.ศ.2453
[ที่มา : สักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัย. ลำปางในพงศาวดารไทยถิ่นเหนือ, ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์, 2548]



"ภาพถ่ายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คราวเสด็จนครลำปาง พร้อมด้วยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ตลอดจนเจ้านายและผู้ตามเสด็จอื่นๆ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง คราวเสด็จมณฑลพายัพ พ.ศ.2464"
[เทศาภิบาล พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, กรุงเทพฯ : มติชน, 2545, 118]




สมัยปฏิรูปหัวเมืองทางเหนือ
ราวพ.ศ.2417-2459[1]
ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 4-5 แห่งสยามประเทศ

การเติบโตของระบบทุนนิยม อิทธิพลชาวตะวันตก และสยามประเทศ
ในยุคสมัยนี้ เริ่มต้นด้วยการนับตั้งแต่การลงนาม สนธิสัญญาเชียงใหม่[2] อันเนื่องมาจากความขัดแย้งจากกิจการป่าไม้ และความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดน ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยาม และรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ขณะที่อังกฤษก็สามารถตั้ง สถานกงสุลประจำนครเชียงใหม่ และนครลำปาง เพื่อดูแลผลประโยชน์ของตนและกลุ่มชนในบังคับอังกฤษ ปัญหาการคุกคามจากอาณานิคมตะวันตกดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสยาม มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะควบคุมหัวเมืองต่างๆทั่วราชอาณาจักร เพื่อจะรวบอำนาจเข้าสูศูนย์กลางให้มากที่สุด ดังปรากฏการส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ มาควบคุมการบริหารราชการภายใน จึงอาจกล่าวได้ว่าในยุคนี้หัวเมืองทางเหนือ ได้รับการกดดันอย่างหนักหน่วง แน่นอนว่า กระแสอันเชี่ยวกรากของระบบทุนนิยมที่กำลังเริ่มต้นขึ้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบเจ้านายทางเหนือพังทลายลง



ครุฑไม้แกะสลัก สัญลักษณ์ของรัฐสยาม ที่เคยติดตั้งอยู่บริเวณศาลากลาง



เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต
[ที่มา : หนังสืออนุสรณ์ 100 ปี โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย, 2541]

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย
เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 10 ที่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เป็นผู้บริจาค ผู้สร้างสิ่งสาธารณประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่สนับสนุนรัฐบาลสยามอย่างยิ่ง[3] อันได้แก่ สร้างโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงทหาร โรงพยาบาลทหาร ที่ทำการไปรษณีย์ หรือการอุทิศที่ดินเพื่อสร้างที่ทำการศาล เรือนจำกลางลำปาง เป็นต้น

การทำมาหากิน ค้าขาย
ดังที่กล่าวมาแล้ว ในยุคนี้เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมเข้าสู่นครลำปาง กลุ่มแรกๆที่มีโอกาสสะสมทุนก็ได้แก่ กลุ่มทำไม้ ชาวไทใหญ่-พม่า ที่ร่วมกับชาวยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ ดังปรากฏการสร้างบ้านใหญ่โต บริเวณท่ามะโอ หรือการสร้างวัดแบบไทใหญ่-พม่า บริเวณย่านป่าขามเป็นจำนวนมาก

อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ชาวจีน[4] ที่เดินทางมาจากส่วนกลางของสยามประเทศและศูนย์กลางการค้าทางน้ำ เช่น สวรรคโลก นครสวรรค์ มาประกอบอาชีพค้าขายทางน้ำ โดยเรือหางแมงป่อง ขึ้น-ล่อง ส่งสินค้าระหว่างนครลำปาง กับปากน้ำโพ และอาจไปจนถึงกรุงเทพฯ หรือบางคนสามารถสะสมทุนและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอากรเก็บภาษีในท้องถิ่น

การตั้งถิ่นฐาน
เมืองในยุคนี้จะมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ละกลุ่มก็มีความเชื่อ และโลกทัศน์ที่ต่างกันในการอยู่อาศัย ใช้ชีวิต ได้แก่ ฝรั่งอังกฤษที่เข้ามาทำไม้ และชาวไทใหญ่-พม่า[5] ตั้งถิ่นฐานบริเวณท่ามะโอ ที่ใกล้แม่น้ำวัง จนใช้บางแห่งเป็นที่ชักลากซุงขึ้นมา เช่นบริเวณด้านหน้าของวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม(ด้านสระน้ำ)

ขณะที่ชาวจีน ชาวไทใหญ่-พม่า ก็เลือกทำเลบริเวณตลาดจีน(กาดกองต้า) ที่ใช้พื้นที่ต่ำใกล้น้ำให้เป็นประโยชน์ในการเป็นท่าเทียบเรือสินค้า โกดัง ที่อยู่อาศัย และห้างไปในตัว

ย่านวัดไทใหญ่-พม่า บริเวณป่าขามและใกล้เคียง เป็นบริเวณที่แยกออกมาจากตัวเมือง ขณะเดียวกันก็มีบริเวณม่อนที่มีความสูงสอดคล้องกับคติการสร้างวัด




สถานกงสุลอังกฤษประจำนครลำปาง ภาพนี้ถ่ายราว พ.ศ.2460 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง แสดงให้เห็นการจัดการผลประโยชน์ของอังกฤษผ่านชาวไทใหญ่-พม่า ในธุรกิจค้าไม้
[ที่มา : รศ.ดร.ชูเกียรติ-คุณ ฌาดา ชิวารักษ์]

คริสเตียนอเมริกันเพรสไบทีเรียน เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มิได้มีเป้าหมายอยู่ที่การค้าขาย แต่เน้นที่การเผยแพร่ศาสนา ให้การศึกษา และสังคมสงเคราะห์ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านเกาะ ริมแม่น้ำวัง ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นที่ดินพระราชทาน ใกล้กับสถานกงสุลอังกฤษประจำนครลำปาง[6]

เชิงอรรถ
[1] อาศัยเส้นแบ่งการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ.2417 จนถึง การเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการเดินรถไฟสายเหนือ ที่มาถึงนครลำปางเมื่อ พ.ศ.2459 ขณะเดียวกัน ปีนี้มีการเปลี่ยนตำแหน่งเป็น “จังหวัดลำปาง” โดย กระทรวงมหาดไทย
[2] ดู ความขัดแย้งที่เกิดจรากปัญหาเกี่ยวกับกิจการป่าไม้ และปัญหาความวุ่นวานในหัวเมืองชายแดน จนทำให้เกิด “สนธิสัญญาเชียงใหม่” ฉบับแรก ได้ ใน สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544, หน้า 358-359
[3] สมโชติ อ๋องสกุล, เจ้าหลวงลำปางและธิดาเจ้าหลวงลำปางคนสุดท้าย, เอกสารอัดสำเนา, 2546
[4] ดูบทบาทของพ่อค้าชาวจีนได้ในบทความของ มาร์โก วี. พาเทล, เครือมาศ วุฒิการณ์ แปล. “ประวัติและพัฒนาการของการค้าขายในลำปาง ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง ค.ศ.1939” ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ, สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏลำปาง, 2544, หน้า 36-41 หรือจะอ่านประวัติศาสตร์เชิงบอกเล่าที่แสนจะมีสีสันได้ใน วิถี พานิชพันธ์.“คุณย่าเล่าว่า” ในเล่มเดียวกัน
[5] ดูบทบาทของการทำไม้ของชาวอังกฤษ และชาวไทใหญ่-พม่า และท่าทีของคนพื้นเมืองต่อการทำไม้ ซึ่งให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ ใน มาร์โก วี. พาเทล, อ้างแล้ว, หน้า 28-35
[6] อ่านเรื่องราวของคริสเตียนในลำปางได้ใน คริสตจักรที่ 1 ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า, ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์, 2543

ก04-สมัยเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง



ภาพเขียน เจ้ากาวิละ เจ้าหลวงลำปางองค์แรก(พ.ศ.2317-2325) ก่อนที่จะได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น พระยาวชิรปราการ ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2325-2356 โดยมีเมืองนครลำปาง เมืองลำพูนเป็นเครือญาติในการขยายดินแดนล้านนา ในยุคที่เรียกว่า "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" [ที่มา : หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่]



นักแสดงแสง และเสียง เรื่อง เจ้าเจ็ดตนผู้ฟื้นแผ่นน้ำหนังดินล้านนา เมื่อ 5-6 กุมภาพันธ์ 2531
[ที่มา : สูจิบัตร งานหลวงเวียงละกอน ครั้งที่ 4 การแสดงประกอบแสงและเสียง เจ้าเจ็ดตน ผู้ฟื้นแผ่นน้ำหนังดินล้านนา, ลำปาง : ภัณฑ์เพ็ญ, 2531]





หอคำนครลำปาง เดิมตั้งอยู่ ณ บริเวณอาคารศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว แต่ พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ ได้นำภาพถ่ายนี้ไปก่อสร้างขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์(ครองเมืองลำปางราว พ.ศ.2337-2368)
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]

สมัยเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง
พ.ศ.2325-2417[1]
ร่วมสมัยกับกรุงรัตนโกสินทร์


สร้างบ้านเมืองด้วยการกวาดต้อนไพร่พล
กำลังคนไพร่พล เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงอยู่ของเมืองๆหนึ่ง ครั้นล้านนาตกอยู่ในอำนาจของพม่า โครงสร้างของไพร่พลดังกล่าวอ่อนแอลง จนไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในสังกัดได้ดังเดิม เมื่อ "เจ้ากาวิละ" อาศัยความร่วมมือจากทางกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ จนกลับมาตั้งศูนย์อำนาจการเมืองทางเหนือได้สำเร็จ จึงได้ใช้ "นโยบายเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง"[2] จากหัวเมืองต่างๆทางเหนือ เช่น เมืองเชียงตุง เมืองสาด เมืองยอง ฯลฯ

การตั้งถิ่นฐาน
อ.สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย อ้างถึงตำนานเจ้าเจ็ดตน ฉบับสุวรรณหอคำมงคล ใน ประวัตินครลำปาง[3] ว่า
"...สมัยเจ้าคำโสม ผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 2 ...ได้สร้างวิหารหลวงกลางเวียง ก่อองค์เจดีย์ และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สร้างพระอุโบสถ สร้างพระวิหารวัดหมื่นกาด วิหารวัดน้ำล้อม วิหารวัดป่าดั๊วะในฝั่งเมืองใหม่...

...ต่อมาในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์เป็นพระยานคร เมื่อ พ.ศ.2337 ได้สร้างกำแพงและขุดคูเมือง พร้อมทั้งสร้างหอคำขึ้นราว พ.ศ.2351

...มีประตูเมืองชื่อต่างๆ คือ ประตูหัวเวียง ประตูศรีเกิด ประตูชัย ประตูศรีชุม ประตูสวนดอก และประตูเชียงราย..."

ทางฝั่งเหนือ ของแม่น้ำวังนั้นประกอบด้วยชุมชนจากเชียงแสนดังที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ บ้านหัวข่วง บ้านสุชาดาราม บ้านช่างแต้ม บ้านปงสนุก นอกนั้นยังมีบ้านพะเยา ที่อยู่บริเวณเดียวกับบ้านปงสนุก ภายหลังได้ย้ายกลับไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่เมืองพะเยาอีกครั้ง[4]



"วิหารหลวงและหอไตรที่เมืองละคร(ลำปาง)" เป็นภาพสเก็ตช์ ของ คาร์ล บ็อค ในภาพปรากฏวิหารหลวง หอไตร และเสาหงส์ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นวิหารหลวงวัดใด
[ที่มา : บ็อค, คาร์ล. ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง, กรุงเทพฯ : มติชน, 2543, หน้า 160]



วัดหลวงไชยสัณฐาน (ปัจจุบันคือ วัดบุญวาทย์วิหาร) วัดทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง ได้รับการสถาปนาให้เป็น "วัดหลวงกลางเวียง" ศูนย์กลางของเมืองใหม่สมัยนี้ ขณะที่สร้างคุ้มหลวง หอคำในบริเวณใกล้เคียงกัน


หออะม็อก อยู่บริเวณประตูศรีเกิด ต.หัวเวียง อ.เมือง ลำปาง คำว่า "อะม็อก" เป็นภาษาพม่า แปลว่าปืน ถือเป็นป้อมปืนแห่งเดียว ที่สภาพสมบูรณ์ ที่เหลืออยู่ในลำปาง และคาดว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าหอคำดวงทิพย์

การทำมาหากิน ค้าขาย
การค้าขายระยะไกล จะมีพ่อค้าเร่ พ่อค้าวัวต่างที่เชื่อมโยงระหว่าง ยูนนาน พม่า รัฐฉาน หลวงพระบาง เชียงตุง ซึ่งเป็นพ่อค้าไทใหญ่ พ่อค้าฮ่อ ผ่านมา โดยจะเดินทางมาพักบริเวณศาลาวังทาน (บริเวณวัดป่ารวก และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดลำปางในปัจจุบัน) บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง[5]

ชื่อบ้านนามเมือง "เมืองนครลำปาง"
มีการกล่าวถึงขื่อ นครลำปาง ในหลายแห่ง ได้แก่ ตำนานสิบห้าราชวงศ์[6] ที่กล่าวถึง พระยาละครลำปาง(ในพ.ศ.2332) พงศาวดารนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ไว้ว่า พ.ศ.2357 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ได้มีการยกเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย เป็นเมืองประเทศราช

ทั้งปรากฏชื่อ "ศรีนครไชย" จากตำนานที่เขียนขึ้นในยุคนี้ เพื่อเป็นการถวานเกียรติสดุดีแด่สกุลเจ้าเจ็ดตน[7]

เชิงอรรถ
[1] พ.ศ.2325 นับแต่ปีที่ เจ้ากาวิละพึ่งพิงอำนาจจากทางกรุงเทพฯ หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาครองเมืองเชียงใหม่/พ.ศ.2417 สิ้นสุดลงที่การทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ ครั้งแรก
[2] สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544, หน้า 264-268
[3] ศักดิ์ รัตนชัย. “ประวัตินครลำปาง” ใน อนุสรณ์การแข่งขันกีฬาเขต 5 ครั้งที่ 7 ณ จังหวัดลำปาง 24 มิถุนายน 2516, หน้า 67-68
[4] สุกัญญา เอี่ยมชัย. การศึกษาเพื่อเสนอแนวทางการอนุรักษ์ชุมชนเมืองลำปาง วิทยานิพนธ์ ปริญญาการผังเมืองมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 134-135 เรื่อง เก็บผักใส่ซ้าฯในลำปาง อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศักดิ์ รัตนชัย. “เมืองนคร-เมืองลำปาง” ใน ของดีนครลำปาง, 2512, หน้า 16
[5] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์. พ่อค้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ : ลำปาง 2459-2512 ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541, หน้า 31
[6] สมหมาย เปรมจิตต์, ปริวรรต. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับชำระ, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ :มิ่งเมือง, 2540, หน้า 129-130
[7] ศักดิ์ รัตนชัย. “เมืองนคร-เมืองลำปาง” ใน ของดีนครลำปาง, หน้า 13

ก03-สมัยล้านนา



ในสมัยนี้มีการขยายเมืองออกมาทางตะวันตก โดยมีวัดเชียงภูมิ(ปัจจุบันคือ วัดปงสนุก) เป็นศูนย์กลาง



ขณะที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ก็ได้รับการก่อสร้าง ปรับปรุงบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นอย่างดีในสมัยล้านนารุ่งเรือง ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆในยุคหลังๆ




ภาพจากจิตรกรรมฝาผนัง(น้ำแต้ม) วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง แสดงลักษณะอาคารทรงปราสาทที่น่าจะเป็นคุ้ม หรือวัง ในสมัยนั้น

สมัยล้านนา
ราวพ.ศ.1845-2325[1]
ร่วมสมัยกับสุโขท้ยต่อเนื่องมาถึงธนบุรี

ชื่อบ้านนามเมือง "เมืองนคร เมืองลคอร เวียงลคอร"
ชื่อเมือง"เขลางค์นคร" เริ่มถูกตัดให้สั้นเหลือเพียง "เมืองนคร" ในพ.ศ.2019 จากหลักฐานศิลาจารึก หลักที่ 65 ที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ เมืองนคร ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช และคำว่า "นคร" ได้เขียนกลายเป็น "ลคอร" สำเนียงชาวพื้นถิ่นออกเป็น "ละกอน"[2]

ขยายเมืองออกไปทางทิศตะวันตก
หลังจากพญามังราย ยึดเมืองเขลางค์นครได้แล้ว จึงได้ให้ขุนไชยเสนา รั้งเมืองและออกมาสร้างเมืองใหม่ในปี พ.ศ.1845[3] ณ บริเวณวัดเชียงภูมิ (ปัจจุบัน คือ วัดปงสนุก) มีการก่อกำแพงเมืองเพิ่มเติม รวมถึงคูเมือง และประตูเมืองต่างๆ ได้แก่ "ประตูปลายนา" "ประตูนาสร้อย" "ประตูเชียงใหม่" "ประตูป่อง"[4] แต่อย่างไรก็ตาม เมืองใหม่ที่สร้างมากับเองเก่าเขลางค์นครนั้น น่าจะยังมีความสัมพันธ์กันต่อเนื่อง แต่ลดระดับความสำคัญลงไปจากเดิมเท่านั้น

เวียงลคอรได้เป็นสมรภูมิรบระหว่าง ล้านนา กับ กรุงศรีอยุธยา หลายคราว ได้แก่
พ.ศ.1929 พระบรมราชาธิราชที่ 4 ยกทัพมาตี แต่ไม่สำเร็จ
พ.ศ.2053-2058 ล้านนาเปิดศึกรุกกวาดต้อนชาวสุโขทัย เชลียง กำแพงเพชร จึงถูกตอบโต้ด้วยการยกทัพมายึดเมืองลคอรได้สำเร็จ
พ.ศ.2058 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2(พ.ศ.2034-2072) กษัตริย์อยุธยายกทัพมาตีเวียงลคอรแตก แล้วกวาดต้อนผู้คนกลับไป[5]

เมืองยุทธศาสตร์ เมืองหน้าด่าน
การเกิดขึ้นของอาณาจักรล้านนานั้น ถือว่าเป็นรัฐที่เติบโตอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และการทางหาร ทางเหนือได้แก่ พม่า และทางใต้ คือ สุโขทัย กรุงศรีอยุธยา เมื่อสุโขทัยถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ทำให้ล้านนาถูกคุกคามจากทางใต้มากขึ้น นั่นหมายถึงว่า ในขณะนั้นตำแหน่งของหัวเมืองทางใต้มีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่ง "เวียงลคอร" จึงมีฐานะเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่จะต้านทานกองทัพที่มารุกรานเสมอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้ "เวียงลคอร" มีอำนาจต่อรองพอที่จะได้รับอานิสงส์ความมั่งคั่งด้วย[6]


"พระอินทราชาชนช้างกับหมื่นนครแห่งล้านนา ภาพเขียนจากโคลงภาพ พระราชพงศาวดาร แผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ" แสดงให้เห็นบรรยากาศสงครามในยุคที่อยุธยา เปิดศึกกับล้านนา ในสมัยนั้นเมืองนคร เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการทหาร
[ที่มา : สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงสุโขทัย มาจากไหน?, กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, หน้า 137]

ประดิษฐานพระแก้วมรกต ณ วัดพระแก้วชมพู
ปรากฏเหตุการณ์อัญเชิญ "พระแก้วมรกต" จาก เชียงราย มา เชียงใหม่ ที่กล่าวกันว่า ช้างที่อัญเชิญไม่ยอมไปเชียงใหม่ กลับดึงดันที่จะเข้าเวียงลคอร จึงทำให้ "พระแก้วมรกต" พระพุทธรูปสำคัญ ประดิษฐาน ณ วัดพระแก้วชมพู(วัดพระแก้วตอนเต้าสุชาดารามในปัจจุบัน) เป็นเวลาถึง 32 ปี ก่อนจะถูกอัญเชิญไปที่ วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ในเวลาต่อมา[7]



"จิตรกรรมฝาผนัง วัดหงส์รัตนาราม เล่าเรื่อง พระแก้วมรกต ตอนที่ช้างตื่นไม่ยอมเข้าเชียงใหม่" แต่เลือกจะมาที่ เมืองนคร สันนิษฐานกันว่า น่าจะมีนัยทางการเมือง แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจการต่อรองของเมืองนครในขณะนั้น โดยเฉพาะคราวที่หมื่นโลกนคร เป็นเจ้าเมืองอยู่

[ที่มา : พระแก้วมรกต ตำนานพระแก้วมรกต = The Emerald Buddha, กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 281-283]



รูปปั้นช้างอัญเชิญพระแก้วมรกต จำลองเหตุการณ์ไว้ ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง

ล้านนาแตกสลาย
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาภายในล้านนนาที่ไม่มีความเป็นเอกภาพแท้จริง ในที่สุด ก็สลายลงใน พ.ศ.2101 ซึ่งทัพของ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าใช้เวลาเพียง 3 วัน ก็สามารถยึดเชียงใหม่อย่างง่ายดาย ผู้ปกครองเมืองต่างๆ รวมทั้งเวียงลคอร จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของพม่า เรื่อยมาเป็นเวลากว่า 200 ปี[8] ที่อยู่ใต้อิทธิพลความคิด และการอุปถัมภ์จากราชสำนักพม่า

หนานทิพย์ช้าง ต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตน
ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ปรากฏวีรกรรมของหนานทิพย์ช้างที่สามารกำจัด ท้าวมหายศ เจ้าเมืองลำพูนที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนได้สำเร็จ ดังปรากฏเรื่องเล่า ณ บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง หนานทิพย์ช้างได้รับการยอมรับจากชาวเมืองให้เป็นเจ้าเมือง ร.ศ.สรัสวดี อ๋องสกุล กล่าวว่า หนานทิพย์ช้าง ได้รับการแต่งตั้ง จากกษัตริย์พม่า ให้เป็น "พระยาไชยสงคราม"[9] ถือเป็นความชอบธรรมประการหนึ่งในสมัยนั้น ที่ยังอยู่ใต้อิทธิพลของพม่า อย่างไรก็ตามหนานทิพย์ช้าง ยังถูกเรียกในนามอื่นๆ ได้แก่ พระยาสุลวฤาไชย[10], พ่อเจ้าทิพย์ช้าง[11]


หนานทิพย์ช้าง หรือพระยาสุลวฤาไชยสงคราม ต้นตระกูลของ เจ้าเจ็ดตน ผู้พลิกฟื้นแผ่นดินล้านนาในสมัยต่อมา


เชิงอรรถ
[1] พ.ศ.1845 นับจากปีที่เขลางค์นครเสียเมืองให้แก่ พญามังราย/พ.ศ.2325 นับจากปีที่สถาปนากรุงเทพมหานคร ซึ่งในระยะเวลานี้ใช้กรอบการอธิบายที่อ้างอิงกับสยามประเทศเป็นหลัก ช่วงที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า กว่า 200 ปี ล้านนาได้รับอิทธิพลจากพม่าอย่างมาก
[2] ในที่นี้จึงเลือกใช้ คำว่า “เวียงลคอร” เพื่ออธิบายให้เป็นเอกภาพ ดูคำอธิบายเพิ่มเติมใน สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544, หน้า 74
[3] หลักฐานกล่าวถึง จุลศักราช... ดูใน รัตนปัญญาเถระ, พระ. ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร, แปล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล 17 มกราคม 2515, หน้า...
[4] ศักดิ์ รัตนชัย. “เมืองนคร-เมืองลำปาง” ใน ของดีนครลำปาง, 2512, หน้า 10
[5] สรัสวดี อ๋องสกุล, อ้างแล้ว, หน้า 147 และ 202-203
[6] ดูใน สมหมาย เปรมจิตต์, ปริวรรต. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับชำระ, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ :มิ่งเมือง, 2540, หน้า 67-68
[7] พรหมราชปัญญา, พระ. รัตนพิมพ์วงศ์ ตำนานพระแก้วมรกต ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร แปล ใน พระแก้วมรกต, กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า
[8] สรัสวดี อ๋องสกุล, อ้างแล้ว, หน้า 208
[9] อ้างแล้ว, หน้า 261
[10] สมโชติ อ๋องสกุล, เจ้าหลวงลำปางและธิดาเจ้าหลวงลำปางคนสุดท้าย, เอกสารอัดสำเนา, 2546
[11] บนจารึกอนุสาวรีย์เจ้าพ่อทิพย์ช้าง ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง

ก02-สมัยหริภุญไชย



ผังเมืองรูปหอยสังข์ ที่อ.ศักดิ์ รัตนชัย เป็นผู้สำรวจค้นพบ และเผยแพร่เป็นคนแรกๆ
[ที่มา : ศักดิ์ รัตนชัย, "ประวัตินครลำปาง" ใน แนะนำนครลำปาง ฉบับอนุสรณ์การแข่งขันกีฬาเขต 5 ครั้งที่ 7 ณ จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 24 ถึง 30 มิถุนายน พงศ.2516, 2516, หน้า 67]




รูปปั้นสุพรหมฤาษี บนซุ้มประตูโขงวัดบุญวาทย์วิหาร

สมัยหริภุญไชย
ราวพุทธศตวรรษที่ 13

กำเนิดเมืองบนลุ่มน้ำวัง
การกำเนิดรัฐบริเวณลุ่มน้ำปิงในนามหริภุญไชยนั้น จำเป็นต้องสร้างเครือข่าย อันได้แก่ เวียงเถาะ เวียงมะโน ฯลฯ เมืองที่ถือกำเนิดในลุ่มน้ำวัง ก็ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายนั้นเช่นกัน แต่มิใช่เกิดขึ้น โดยกลุ่มคนจากหริภุญไชยเท่านั้น ในตำนาน[1]ที่มีการเล่าถึง "พรานเขลางค์" และ "สุพรหมฤาษี"ที่อาศัยอยู่บริเวณ "ดอยเขางาม" นับเป็นตัวแทนกลุ่มชนดั้งเดิมในระยะเวลานั้น ซึ่งมีทั้งชาวลัวะและกะเหรี่ยง[2]

ที่น่าสนใจก็คือ ในโบราณสถานหลายแห่งมีการกล่าวอ้างถึง "พระนางจามเทวี" เช่น วิหารจามเทวี วัดปงยางคง, ตำหนักเย็น วัดพระธาตุจอมปิง ฯลฯ ซึ่งเป็นสำนึกการเชื่อมโยง ความยาวนาน แต่ก็ไม่ได้การยืนยันทางวิชาการอย่างหนักแน่นพอ

การตั้งถิ่นฐาน
ในที่นี้จะกล่าวถึง 3 พื้นที่ อันได้แก่ เมืองที่มีศูนย์กลาง ณ วัดพระแก้วชมพู(ปัจจุบันคือ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม) ที่ครอบคลุมบริเวณเมือง ลักษณะคล้าย"หอยสังข์" กล่าวกันในตำนานว่า เป็นเมืองที่สุพรหมฤาษี และพรานเขลางค์ สร้างให้เจ้าอนันตยศ โอรสของพระนางจามเทวี ปกครองดูแลต่อไป[3] เมืองตั้งอยู่บนที่ดอน ริมแม่น้ำวัง มีองค์ประกอบของเมือง ค่อนข้างสมบูรณ์ เมื่อเทียบกับบริเวณอื่น

บริเวณวัดกู่คำ วัดกู่ขาว วัดปันเจิง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่แรกไปไม่ไกล มีทางเดินเชื่อมจากประตูตาล ยังปรากฏร่องรอยมาจนปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวมีการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีคือ พระพิมพ์ดินเผา และเครื่องปั้นดินเผาทั้งนี้ยังเชื่อมโยงกับแหล่งผลิต คือ "แหล่งทุ่งเตาไห" ที่บ้านทราย ต.ต้นธงชัย อ.เมือง บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของวัดพระเจดีย์ซาวหลังไปประมาณ 2 กิโลเมตร[4]

บริเวณอำเภอเกาะคา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของพื้นที่วัดพระแก้วไปกว่า 10 กิโลเมตร ล่องไปตามแม่น้ำวัง ปรากฏหลักฐานคือ เครื่องปั้นดินเผา[5] (ก็คือ บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงนั่นเอง)



พระพิมพ์ดินเผา ศิลปะหริภุญไชย ขุดพบที่วัดปันเจิงร้าง
[ที่มา : สุรพล ดำริห์กุล, ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 116]


เครื่องเคลือบดินเผาสีน้ำตาล แหล่งทุ่งเตาไห ภาชนะบรรจุอัฐิ ขุดพบบริเวณวัดปันเจิงร้าง
[ที่มา : สุรพล ดำริห์กุล, ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 181]

ชื่อบ้านนามเมือง "เขลางค์นคร" "เมืองลำปาง" "อาลัมพางค์นคร"
ศาสตราจารย์ แสง มณวิทูร[6] ให้คำอธิบาย "เขลางค์นคร" ว่ามาจากภาษามอญ ว่า ฮฺลาง หรือ ขฺลาง แปลว่า ขัน หรือโอ และตีความว่า พรานเขลางค์ ก็คือ พรานที่อาศัยอยู่ที่ ดอยเขลางค์ ก็คือ ดอยโอคว่ำนั่นเอง

ศาสตราจารย์ สุรพล ดำริห์กุล ให้คำอธิบายว่า เมืองลำปางก็คือ บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงนั่นเอง ชื่อของ พระธาตุลำปางหลวง ปรากฏในตำนานเรียก "พระมหาธาตุเจ้าลำปาง" หรือ "พระธาตุหลวงลำปาง"[7] เมืองลำปางจึงน่าจะเป็น "เมืองลำพาง" หรือ "อาลัมพางนคร" ที่พระเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของ พระนางจามเทวี พระราชมารดา[8]




หลักฐานจากการขุดค้นหลักฐานโบราณคดี ที่พบบริเวณ วัดพระธาตุลำปางหลวง อันได้แก่ เศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาต่าง
[ที่มา : ภาสกร โทณะวณิก. การศึกษาเมืองโบราณเวียงพระธาตุลำปางหลวง วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529, หน้า 162]

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกข้อสันนิษฐานจาก อ.สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย ว่า เวียงอาลัมพาง น่าจะอยู่บริเวณ กลุ่มวัดกู่คำ วัดกู่ขาว[9]

เชิงอรรถ
[1] รัตนปัญญาเถระ, พระ. ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร, แปล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล 17 มกราคม 2515, หน้า...

[2] โพธิรังสี,พระ. คำแปลจามเทวีวงศ์พงศาวดารเมืองหริปุญไชย. พิมพ์ครั้งที่ 3. ในงานฌาปนกิจศพ นายชัช แดงดีเลิศ. พระนคร : โรงพิมพ์พิฆเนศ, 2515, หน้า 53
[3] อ้างแล้ว, หน้า...
[4] สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 180-182
[5] ภาสกร โทณะวณิก. การศึกษาเมืองโบราณเวียงพระธาตุลำปางหลวง วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529
[6] ดู เชิงอรรถ รัตนปัญญาเถระ, อ้างแล้ว หน้า...
[7] สุรพล ดำริห์กุล, อ้างแล้ว, หน้า 117
[8] อ้างแล้ว, หน้า 120-121
[9] อ้างแล้ว, หน้า 122


ก01-ลำปางก่อนประวัติศาสตร์

ลำปางก่อนประวัติศาสตร์
ย้อนไปถึง 500,000 ปีที่แล้ว

มีคนกล่าวไว้ว่า การรู้จักตัวเองนั้น ยิ่งสืบค้นไปได้ไกลเท่าใด ก็ยิ่งจะรู้ถึงความลึกซึ้งของบ้านเมืองได้เท่านั้น เสมือนกับการยิงธนูที่จำเป็นต้องง้างไปให้ไกล ฉันใดก็ฉันนั้น ขณะที่หลักฐานทางธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดีในจังหวัดลำปางนั้น กระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก แทบจะทุกอำเภอ ในที่นี้ จึงขอรวบรัดอธิบายภาพรวมของพัฒนาการยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความโดดเด่น และสำคัญในระดับชาติ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่นอกเขตศึกษาก็ตาม ความพยายามนี้เป็นการปูพื้นฐานให้เห็นความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการประวัติศาสตร์ อันจะส่งต่อความเป็นเมืองศูนย์กลางการบริหารการปกครอง ที่มีตำแหน่งอยู่ที่อำเภอเมืองลำปาง

ร่องรอยบรรพบุรุษของมนุษยชาติ "มนุษย์เกาะคา"
พบหลักฐานของมนุษย์ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ มนุษย์โฮโมอีเรคตัส หรือ มนุษย์เกาะคา ที่มีอายุกว่า 500,000 ปี ร่วมสมัยกับ มนุษย์ปักกิ่ง และมนุษย์ชวา มีการค้นพบ "ชิ้นส่วนกะโหลกด้านขวา ฟันหน้าข้าง ฟันด้านขวา และส่วนอื่นๆ" บริเวณหาดปู่ด้าย ต.นาแส่ง อ.เกาะคา ทางทิศใต้ของตัวเมืองลำปาง ถือเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญของประเทศไทย เมื่อพ.ศ.2541[1]

ภาพสันนิษฐานการดำเนินชีวิตของ มนุษย์โฮโมอีเรคตัส ในภาพคือ มนุษย์ปักกิ่ง
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ เดือน ธันวาคม 2544, หน้า 30


ผาศักดิ์สิทธิ์กับการตั้งถิ่นฐาน[2]
พัฒนาการต่อมา ปรากฏหลักฐานแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ อายุกว่า 3,000 ปี ที่ประตูผา รอยต่อระหว่าง อ.แม่เมาะ-อ.งาว ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองปัจจุบัน ซึ่งมีการค้นพบ "โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประกอบพิธีศพ พร้อมกับภาพเขียนสีจำนวนมากถึง 1,872 ภาพ" ที่แสดงสภาพชีวิตความเป็นอยู่และพิธีกรรมไว้ แบ่งภาพเขียนเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่1 ผาเลียงผากลุ่มที่2 ผานกยูงกลุ่มที่3 ผาวัวกลุ่มที่4 ผาเต้นระบำกลุ่มที่5 ผาหินตั้งกลุ่มที่6 ผานางกางแขนกลุ่มที่7 ผาล่าสัตว์และผากระจง อย่างไรก็ตามในบริเวณใกล้เคียงกัน ก็ยังปรากฏภาพเขียนสีในถ้ำต่างๆด้วย เชื่อวันว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญ ก็คือ เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมความเชื่อ ในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ยุคก่อน ประการสำคัญต่อมา ก็คือ เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ถูกแต่งแต้มเป็นภาพเขียนสีจำนวนมหาศาลนั่นเอง จากหลักฐานดังกล่าวจะเห็นถึงสภาพการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ในยุคแรกๆที่อยู่รายรอบ "นครลำปาง" ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นห้วงเวลาที่สั่งสม ความหลากหลาย ก่อนที่จะมีพัฒนาการทางสังคม วิธีคิด เทคโนโลยี เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ในเวลา

ลักษณะหน้าผา บริเวณประตูผา อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

ภาพเขียนสีประตูผา ภาพคนและวัว
ที่มา : ภาพเขียนสีพิธีกรรม 3,000 ปี ที่ผาศักดิ์สิทธิ์, หน้า 110


เชิงอรรถ
[1] ศิลปวัฒนธรรม ธ.ค, 2544
[2] วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ภาพเขียนสี พิธีกรรม 3,000 ปี ที่ผาศักดิ์สิทธิ์ , กรุงเทพฯ : มติชน, 2545

ว่าด้วยสายโซ่ทางประวัติศาสตร์...


หนังสือ แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง (2549)

ความจริงแล้ว การเขียนประวัติศาสตร์ ก็คือ การร้อยสายโซ่แห่งความทรงจำด้วยข้อสันนิษฐานบนหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งเป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเหตุผลทางการเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้ประวัติศาสตร์ ความหลังของท้องถิ่นถูกละเลย ไม่เห็นความสำคัญ ซ้ำยังโดนดูถูก จนถึงแก่การถูกทำลายในที่สุด "แบบเรียนประวัติศาสตร์ระดับชาติ" สอนให้เราภูมิใจความเป็นไทย จนลืมเหลียวกลับไปมองท้องถิ่น ลืมกลับไปมองบ้านเกิด

เช่นเดียวกับชะตากรรมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอื่นๆ "ลำปาง" ไม่พบหลักฐานการเขียนประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร มากเท่าใดนัก การเล่าเรื่องกลับผูกอยู่กับตำนาน ที่ให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิญญาณ ศาสนา และการเมือง จนขาดวิสัยที่จะเข้าใจภาพรวมของบ้านเมืองได้อย่างมีชีวิตชีวา และมีพัฒนาการ

ทั้งที่ลำปางเป็นท้องถิ่นที่มีความ"เก๋า" อยู่มีน้อย หลักฐานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมก็ฟ้องอยู่ด้วยของมันเอง

พื้นที่นี้จะพยายามนำเอา "พล็อตทางประวัติศาสตร์ลำปาง" มาขยายความให้ท่านฟัง ซึ่งมีมากกว่า 1 สำนวน ช่วยกันเรียนรู้และเข้าใจ เพื่อการค้นคว้าหาหลักฐานเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต ในที่นี้จะเริ่มด้วยพล็อตสั้นๆ จาก


1. "แผนที่มรดกทางวัฒนธรรม"(2549) แบ่งช่วงเวลาอยู่ที่ 6 สมัย แต่ไม่นับมาถึงปัจจุบัน
2. ต่อมาจะตามด้วยพล็อตจากหนังสือ "จากอดีตสู่อนาคตเมืองนครลำปาง"(2548) ที่เก็บรายละเอียดมาถึงยุคปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังมีงานเขียนประวัติศาสตร์ลำปาง อีกหลายท่านหลายสำนวน อาทิ ครูแสน ธรรมยศ, อ.สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย, รศ.สรัสวดี อ๋องสกุล ฯลฯ ซึ่งจะนำเสนอต่อไปในเวลาข้างหน้า

ขอเชิญร่วมลิ้มรสความสนุกของการ สืบค้น ประวัติศาสตร์บ้านเมืองลำปางได้นับแต่นี้...

ศุกร์ 8 ธันวา 49

เปิดประวัติศาสตร์ลำปาง


ปก หนังสือจากอดีตสู่อนาคตเมืองนครลำปาง(2548)

ได้เวลาที่จะร่วมกันค้นหา
ตัวตน
ความหลัง
เงื่อนไข ความเป็นมาเป็นไปของบ้านเมืองลำปาง
บนพื้นที่สาธารณะแห่งนี้
อย่างที่เขาว่ากันว่า "ของเก่าๆ ไม่เล่าก็ลืม"

8 ธันวา 49