Friday, December 8, 2006

ก06-สมัยการกำเนิดเส้นทางรถไฟเหนือ



ขบวนรถไฟสายเหนือมาถึงลำปางครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2459
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]



อาคารสถานีรถไฟนครลำปาง มุมมองจากถนนสุเรนทร์
[ที่มา : ร้านลำปางโฟโต้]

สมัยการกำเนิดเส้นทางรถไฟเหนือ
พ.ศ.2459-2500[1]
ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 6-9 แห่งสยามประเทศ

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเงื่อนไขของการคมนาคม
เช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตก เมื่อเส้นทางรถไฟตัดผ่านเมืองใด เมืองนั้นก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็ว ในกรณีลำปาง จากเส้นทางน้ำสู่การค้าทางบกอย่างรถไฟที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย คุ้มค่า

ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการดึงคนเข้าเมือง โดยเฉพาะชาวจีน ที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งในแง่ของความรู้ การจัดการตลอดไปจนเครื่องจักรต่างๆ ล้วนเติบโตในช่วงนี้เอง



สะพานข้ามแม่น้ำวัง ใกล้สถานีรถไฟนครลำปาง หรือที่เรียกกันว่า "สะพานดำ"
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]



สะพานรัษฎาภิเศก โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อพ.ศ.2460
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]

การตั้งถิ่นฐาน

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชาวจีน ซึ่งตั้งตัวอยู่บริเวณถนนประสานไมตรี ใกล้ย่านสถานีรถไฟ ย่านการค้าซึ่งเป็นส่วนขยายของเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลับขยับขยายไปบริเวณย่านตลาดในเมือง ได้แก่ ตลาดบริบูรณ์ปราการ ตลาดราชวงศ์ ซึ่งปรากฏการตั้งถิ่นฐานบน ถนนทิพย์ช้าง ถนนบุญวาทย์ ถนนรอบเวียง



บรรยากาศการค้าบริเวณย่านรถไฟ-สบตุ๋ยที่คึกคัก
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]
ชื่อบ้านนามเมือง "จังหวัดลำปาง"
ในเวลาใกล้เคียงกัน กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเมือง
โดยให้ใช้ชื่อ จังหวัดลำปาง แทนคำว่า เมืองนครลำปาง เมื่อพ.ศ.2459[2] ในสมัยรัชกาลที่ 6

สงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ตาม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ราวพ.ศ.2485-2488) ญี่ปุ่นเข้ามาเพื่อเคลื่อนพลผ่านประเทศไทย และได้ตั้งกองบัญชาการที่ลำปาง เข้าทำการยึดอาคารสถานที่ในกิจการของชาวตะวันตก ทั้งชาวอังกฤษ อเมริกัน และชนชาติอื่นๆต่างก็ทำการลี้ภัยออกไป ขณะที่ประเทศไทยสมัยนั้น เป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีเมือง ด้วยการทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่างๆ

หลายครอบครัวในตัวเมือง ได้ทำการย้ายไปอยู่นอกเมืองชั่วคราวเพื่อหลบภัยสงคราม บางร้านในเมืองก็พรางอาคารด้วยยอดมะพร้าว หรือเอาสีดำมาทาตัวตึก ทหารญี่ปุ่นได้ยึดอาคารสำคัญในเมืองโดยเฉพาะอาคารร้านค้าบริเวณกาดกองต้า ตลอดไปจนถึงการยึดเอาข่วงโปโลบริเวณสวนสาธารณะเขลางค์นครลำปาง ในปัจจุบัน และบริเวณโรงแรมทิพย์ช้าง ตั้งเป็นตึกบัญชาการกองพล 1 ญี่ปุ่น ขณะที่อาคารสถานที่ของกลุ่มชนคู่สงครามอย่าง อังกฤษ และอเมริกัน เช่น โรงพยาบาลแวนแซนวูร์ด โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี ต่างก็โดนยึดเป็นที่ตั้งกำลังพลทหารญี่ปุ่น[3] แม้แต่วัดน้ำล้อม ก็มีการเล่าว่า มีทหารรถถังของญี่ปุ่นมาขอพักที่วัด[4]

ย่านรถไฟที่คึกคักเต็มไปด้วยผู้คน จะสังเกตเห็นรถไฟ รถม้า เหล่าสินค้าที่รอบรรทุกไปกับรถไฟ
[ที่มา : เทศบาลนครลำปาง]

การทำมาหากิน ค้าขาย
ย่านสถานีรถไฟ กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และแหล่งการค้าสำคัญซึ่งมีกิจการที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ โรงสี โรงเลื่อย โกดังเก็บผลผลิตทางการเกษตร ทั้งยังเป็นเส้นทางผ่านไปยัง พะเยา เชียงราย[5] ควบคู่ไปด้วยกันนั้น แหล่งบันเทิง ย่านกินเที่ยว ก็ตามมา ทั้งโรงฝิ่นบนถนนประสานไมตรี และข้างสถานีตำรวจสบตุ๋ยในปัจจุบัน หรือย่านเที่ยวบนถนนบุญวาทย์ ที่มีทั้งซ่อง โรงฝิ่น โรงภาพยนตร์ โรงแรม ร้านอาหาร[6]

เชิงอรรถ
[1] ห้วงเวลานับจากที่รถไฟสายเหนือมาถึงลำปาง พ.ศ.2549 สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดให้กับลำปางเป็นอย่างมาก ในที่นี้นำเสนอมาถึงเพียง พ.ศ.2500 การพิจารณาเลือกห้วงเวลาดังกล่าว มาจากข้อกำหนดที่เน้นคุณค่าความเก่าแก่ทางมรดกทางวัฒนธรรม เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์ ทั้งระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะลำปางในยุคนั้นเป็นศูนย์กลางการค้าทั้งถูกและผิดกฎหมาย ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวไว้ว่า ในลำปางมีพ่อเลี้ยงอยู่ 2 ประเภท คือ พ่อเลี้ยงค้าไม้ กับ พ่อเลี้ยงค้าฝิ่น
[2] แม้จะอ้างถึงใน สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547, หน้า 110 แต่ยังไม่สามารถหาเอกสารชั้นต้นมาอธิบายได้
[3] ดูบรรยากาศช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ใน ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์. พ่อค้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ : ลำปาง 2459-2512 ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541, หน้า 92
[4] อ่านเพิ่มเติม สงครามโลกครั้งที่ 2 จากคำบอกเล่า ได้ใน พระครูปลัดสว่าง สุปภาโส. 80 ปี พระราชคุณาภรณ์ หลวงพ่อเล่าให้ฟัง, ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์, 2544, หน้า 12-14
[5] ดู ศูนย์กลางลำปางกับการส่งสินค้าออกหัวเมืองต่างๆ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องใน ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์, อ้างแล้ว, หน้า 42-57
[6] อ้างแล้ว, หน้า 93

No comments: